ลองขับวันละนิด : Nissan Note E-Power ขายในไทยสักทีเถอะ

รถ EV อาจจะยังห่างไกลไปสำหรับในไทย เนื่องจากระยะทางที่สามารถวิ่งได้ รวมถึงสถานีชาร์จแบต แต่ทำไมรถ Hybrid อย่างตระกูล E-power ที่มีคอนเซปต์ใช้เครื่องยนต์ เพื่อชาร์จไฟเข้าแบต และขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียว ถึงยังไม่เข้าไทยสักที ทั้ง ๆ ที่ค่อนข้างตอบโจทย์กับการใช้งานในไทยเป็นอย่างมาก เท่าที่ผมอ่านผ่าน ๆ ตามแหล่งต่าง ๆ น่าจะเนื่องมาจากไม่เข้าเกณฑ์ภาษี ทำให้นำเข้ามาก็จะมีราคาที่สูงลิ้ว ซึ่งปัจจุบันคาดว่า น่าจะอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงานในไทย และจากการสอบถามเซลล์ในงาน Motorshow คาดว่าน่าจะขายในปี 2020 ครับ

เกริ่นมายาว ขออนุญาตตัดเข้ารีวิวดื้อ ๆ เลยแล้วกันครับ

ในส่วนของรูปลักษณ์ ภายในภายนอก ไม่ต่างจาก Nissan Note ในไทย ยกเว้นเกียร์ ซึ่งผมลืมถ่ายรูปมา (ขออนุญาตนำภาพจาก Bangkokpost ซึ่งน่าจะเป็นภาพของ Press Release มาประกอบในบทความนี้ด้วยนะครับ)

ซึ่งขอบอกก่อน ว่ารีวิวนี้จะรีวิวเฉพาะในส่วนของระบบที่เป็น Highlight สำคัญอย่างระบบ Hybrid และ E-Padel เท่านั้น ไม่ได้ลงรูปภายในห้องโดยสาร ฟิลลิ่งของช่วงล่างนะครับ

การใช้งานคันเกียร์ครั้งแรกที่ได้พบ ก็ค่อนข้างงงเล็กน้อยครับ ว่าใช้งานยังไง เนื่องจากไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่เราคุ้นหูคุ้นตากัน แต่หลัก ๆ จะมีเกียร์ P / R / N / D  เหมือนเดิมครับ แต่จะไม่ได้มีโหมด S หรือ L อย่างรถรุ่นอื่น ๆ

 

โดยที่ตรงคันเกียร์ จะมีรูปภาพแสดงวิธีใช้งานเบื้องต้นไว้แล้วครับ เช่น
P = กดปุ่มตรงกลาง
N = เลื่อนคันเกียร์ไปทางขวา
R = เลื่อนคันเกียร์ไปทางขวา และดันขึ้น
D = เลื่อนคันเกียร์ไปทางขวา และดันลง

 

ข้อสังเกต ไม่มีโหมด Over Drive / Paddle Shift หรืออื่น ๆ ที่ทำให้สามารถเล่นเกียร์ได้ เวลาขึ้นเขาลงเขา หรือเร่งแซง จะมีปัญหาในการใช้งานหรือไม่

คำตอบคือ ไม่มีครับ ตัวรถค่อนข้างแรงอย่างเห็นได้ชัดเจน และในขณะเดียวกันช่วงลงเขา ก็ได้ความสามารถของ Regenerative Braking หรือระบบหน่วงความเร็ว เพื่อปั่นไฟกลับเข้าไปยังแบตเตอรี่ ซึ่งจะรีวิวในช่วงล่าง ๆ ของบทความครับ

 

E-Power คืออะไร

  • ถ้ารถ EV คือไฟฟ้าล้วน
  • รถ Hybrid คือ เครื่องยนต์ทำงานร่วมกับไฟฟ้าผสมกัน
  • E-Power ของ Nissan คือ เครื่องยนต์ปั่นไฟ เก็บเข้าแบตเตอรี่ก่อน โดยกำลังขับเคลื่อน เกิดจากมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

ไอเดียตั้งต้น มันก็มาจากการแก้ปัญหารถ EV หาสถานีชาร์จแบตไม่ได้นี่แหละครับ เลยให้เครื่องยนต์ทำหน้าที่ปั่นไฟแทนการชาร์จแบตเตอรี่ไปเลย

ซึ่งข้อสังเกต คือ การที่มีอุปกรณ์ภายในรถมากขึ้น ก็ทำให้ต้องดูแลรักษามากขึ้น ยังมีเครื่องยนต์ที่ต้องดูแล เพิ่มเติมคือระบบมอเตอร์ไฟฟ้า Inverter และ Battery เพิ่มเข้ามา แต่คาดว่าอาจจะไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะเมื่อใช้ Concept เครื่องยนต์ปั่นไฟเข้า Battery ทำให้ขนาดของแบตไม่จำเป็นต้องใหญ่เหมือนรถ EV (มีขนาดราว ๆ 40-80kWh) ซึ่งของ Nissan Note E-Power ใช้ขนาดเพียง 1.5kWh เท่านั้นเองครับ

ที่น่ากังวลหลัก ๆ น่าจะเป็น Inverter ซึ่งเท่าที่ตามข่าวรถ Toyota Hybrid ต่าง ๆ ก็พบว่ามีเสียบ้าง แต่สามารถซ่อมได้

 

แต่ข้อดีที่ทำให้ E-Power น่าสนใจก็มีไม่น้อย

  1. ลด Loss ของการส่งกำลัง ทำให้ประหยัดพลังงาน และปล่อยมลพิษน้อยกว่าใช้เครื่องยนต์อย่างเดียว
  2. ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า จึงทำให้มีแรงบิดตั้งแต่รอบต่ำ ๆ

ซึ่งผมมองว่า ประโยชน์ 2 ข้อนี้เพียงพอที่จะยอมจ่ายตัวค่ารถแพงขึ้นอีกหน่อย ค่าบำรุงรักษาเพิ่มอีกนิด ถือว่าคุ้มครับ (แต่หากวางขายในไทยจริงแล้ว ก็ไม่รู้ว่าค่าตัวและค่า Service ราคาจะเป็นอย่างไรบ้าง)

เข้าสู่ช่วง การขับขี่ของจริง

  1. มอเตอร์ไฟฟ้า แรงได้ใจ เหยียบเป็นมา หลังติดเบาะ แต่ผมไม่ได้ทดสอบจับเวลาเนื่องด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น แต่กล้ารับประกันว่า กระบะดันราง รถซิ่ง สู้ไม่ได้แน่นอนครับ 
  2. ความรู้สึกคล้าย ๆ เกียร์ CVT ที่ไม่มีการล็อคพูลเล่ย์ หรืออธิบายง่ายกว่านั้น มันก็เหมือนขับ Scooter ไฟฟ้านั่นแหละครับ ไม่มีจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ รถออกตัวไปอย่างเรียบ ๆ 
  3. เครื่องยนต์ทำหน้าที่ปั่นไฟเป็นระยะ โดยเท่าที่สังเกต บางครั้งทำงานนาน บางครั้งทำงานสั้น ช่วงระยะเวลาที่เครื่องยนต์ดับไป ก็เช่นกัน แต่โดยเฉลี่ยจะทำงานสลับกับดับเครื่องยนต์ประมาณ 1 นาที ซึ่งมีเสียงเข้ามาภายในห้องโดยสารเล็กน้อย
  4. เมื่อเหยียบคันเร่งหนักหน่อย เครื่องยนต์จะปั่นไฟแรงขึ้น (รอบเครื่องสูงขึ้น) คาดว่า เพื่อให้กระแสไฟส่งไปยังมอเตอร์ไฟฟ้ามากขึ้น 

ซึ่งที่เรือนไมล์ ก็จะแสดงสถานะตลอดว่าในขณะนั้น ระบบตัวรถกำลังทำงานอะไรอยู่ เช่น

  • เครื่องยนต์ปั่นไฟ
  • Regenerative Braking ทำงาน

  • ความสามารถใช้การขับให้ประหยัดน้ำมัน (เหยียบมาก กราฟจะพุ่งขึ้นทะลุสีเขียว Eco ครับ)

E-Padel 

นับว่าเป็น Highlight ของรถคันนี้เลยครับ อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้า ว่ารถมีความสามารถ Regenerative Braking หรือเมื่อรถชะลอตัว จะปั่นไฟกลับเข้าไปยังแบตเตอรี่ ซึ่งเราจะใช้ E-Padel หรือคันเร่งตัวเดียวเลย ในการบังคับรถทั่งเร่ง และเบรคแบบปั่นไฟ

  • สัมผัสครั้งแรก ต้องบอกว่าใช้งานง่ายกว่าที่คิด ปรับตัวเร็วแบบ ไม่ต้องใช้เวลาเป็นวัน เป็นสัปดาห์ ก็สามารถใช้งานได้อย่างคล่องแล้ว 
  • ใช้งานทั้งในเมือง และนอกเมืองโอกินาวาที่ญี่ปุ่น กะระยะดี ๆ ไม่ต้องเหยียบเบรคเลยก็ทำได้ 
  • บังคับคล้าย ๆ Jetski ครับ ต้องเลี้ยงคันเร่งไว้เล็กน้อย รถถึงจะไหลไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าปล่อยหมด รถจะชลอตัวเร็วมาก (Jet Ski จะหน่วงจากความต้านทานของน้ำ)
  • หากปล่อยคันเร่งสุด รถสามารถชลอตัวจนหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้เลยครับ (โดยที่ผู้ขับขี่สามารถคาเกียร์ D เอาไว้อยู่)
  • และเมื่อจะออกตัว ก็ค่อยเหยียบคันเร่งใหม่ได้เลย

ในด้านความปลอดภัย E-Padel

  • ไฟเบรคจะติดเมื่อเราปล่อยคันเร่งเกือบหมดเท่านั้น ซึ่งก็อยู่ในเกณฑ์ที่รถคันหลังรับรู้ได้ และไม่ชนเราแน่นอน
  • คนขับอาจจะต้องมีสติในการขับขี่มากขึ้น เพราะเมื่อรถหยุดสนิทจากการใช้ E-Padel ควบคุมอย่างเดียว หากเราเผลอไปแตะเบรค และปล่อยเบรคขึ้นมา รถจะขยับไปข้างหน้าทันที ซึ่งอาจจะเกิดเหตุชนคันข้างหน้าได้ หากเราจอดชิดคันข้างหน้าเกินไป (ผมสังเกตว่าคันที่ผมเช่าขับ ไม่มีฟังก์ชั่นเบรคอัตโนมัติ)

โดยรวมผมว่าสะดวกดีนะครับ เวลารถติด ๆ น่าจะช่วยเหลือผู้ขับขี่ได้ดีมาก ๆ เพราะเราไม่ต้องสลับเท้าไปเหยียบเบรคเลย หากกะระยะแม่น ๆ ซึ่งอย่างที่ผมได้กล่าวไป ว่าใช้เวลาปรับตัวไม่นาน

 

ข้อสังเกต

เราสามารถปิดฟังก์ชั่น E-Padel ได้ โดยเลือกโหมดการขับขี่จาก Eco เป็น Normal ก็จะขับขี่ปกติเหมือนรถยนต์ทั่ว ๆ ไป แต่ฟังก์ชั่น Regenerative Braking ก็จะใช้งานไม่ได้ด้วยเช่นกัน 

 

เข้าสู่ช่วงที่ทุกท่านรอคอย อัตราบริโภคเชื้อเพลิง

ระยะทาง 400 โลพอดี
บริโภคน้ำมัน 16.09 ลิตร (23.66 km/l)
ค่าน้ำมัน 2500 เยน

ลักษณะการขับขี่
ปิดแอร์ 50% ของระยะทางทั้งหมด
Highway 20% (ราว ๆ 80km) ความเร็วเฉลี่ย 80-100
ทางชนบท 70% ความเร็วเฉลี่ย 50-80km
ในเมือง 10% ส่วนใหญ่รถจะติด 

จะสังเกตว่า ไม่ค่อยประหยัดมากนัก หากเทียบกับ Mazda 2 แต่ถ้า Nissan Note E-Power เข้าไทยจริง เปิดตัวมาถูกจริง ผมว่าเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ ในแง่ความแรง กว้างขวาง และสามารถใช้งานได้อย่างสารพัดประโยชน์ครับ

 

หากถูกใจบทความของเรา ขอเชิญกด Like Page ให้กำลังใจกับเราได้ที่

https://www.facebook.com/cleverhamblog/

ขอบคุณทุกท่านมากครับ

Posted in รถยนต์ มอไซค์ By Hammer.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *