CR : YSS Spring แต่ง ทางเลือกใหม่ให้รถเกาะถนนดีกว่าเดิม ในราคาประหยัดกระเป๋า (บนรถ MG EP)

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่าน เมื่อซื้อรถใหม่ก็อาจจะพบกับปัญหารถย้วย โยนกันบ้าง เพราะโดยปกติแล้วรถมาตรฐานโรงงานเดิม ๆ มักจะออกแบบให้ช่วงล่างนุ่มนวล หรืออ่อน

ก่อนอื่นผู้เขียนขออนุญาตชี้แจงว่า ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านช่วงล่าง ทุกวันนี้เวลาแต่งช่วงล่างรถมอเตอร์ไซค์ ก็แค่แจ้งช่างว่า ต้องการเอาไปใช้งานอะไร ลงสนามแข่ง หรือใช้งานบนท้องถนน เพราะการทำช่วงล่างเพื่อใช้แข่งขัน / ใช้งานจริงบนท้องถนนจะแตกต่างกัน

โดยสปริงแต่งที่จะนำมารีวิว วันนี้ คือ YSS Spring รุ่น Comfort Series หรือเป็นรุ่นความสูง Standard เท่ากับโรงงาน (โดยรุ่นนี้จะใช้สีสปริงเป็นสีขาว)

หลักการทำงานของสปริง และโช้คอัพอย่างคร่าว ๆ คือ
  • สปริง และโช้คอัพ จะต้องทำงานสัมพันธ์กัน (ออกแบบมาเพื่อรองรับกันและกัน)
  • สปริง ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักรถ และซับแรงกระแทก
  • โช้ค ทำหน้าที่หนืดแรงสะท้อนกลับ เมื่อสปริงเด้งกลับ (คล้ายๆ กระโดดบนแทมเบอร์ลีน ถ้าไม่มีโช้คอัพ ก็จะเด้งรัว ๆ แต่เมื่อมีโช้คแล้ว จังหวะคืนตัวของสปริง จะค่อย ๆ คืน ไม่เด้งแรง)
  • ดังนั้นทั้งสปริง และโช้คอัพ จะต้องออกแบบมา เพื่อทำงานร่วมกันได้อย่างพอดี
ปัญหาของ mg ep รถที่ผู้เขียนได้ทำการติดตั้ง YSS Spring ดังกล่าว
  • ผู้เขียนคาดว่า ทั้งสปริงและโช้คอัพของ MG EP นั้นอ่อนเกินไปทั้งคู่ เนื่องจากการทดลองกดท้ายรถ รถสามารถกดได้โดยง่ายดาย และจังหวะคืนตัว จะมีการเด้ง 2 ครั้ง
  • จังหวะเข้าโค้ง แล้วเจอถนนไม่เรียบจะรู้สึกได้ว่ารถโยนไปค่อนข้างจะทั้งคัน รวมถึงโดดจากคอสะพานด้วย
  • ยิ่งบรรทุกของหนัก หรือนั่งเต็มคัน ยิ่งย้วยหนัก
การแก้ปัญหาของ YSS Spring comfort series
  • ค่า K ของสปริง จะสูงกว่าของติดรถ (แข็งกว่า)
  • โดยออกแบบมาเพื่อใช้ร่วมกับโช้คอัพเดิม

ผลลัพธ์
  • ที่ความเร็วต่ำ สัมผัสได้ว่ารถกระด้างขึ้นค่อนข้างชัดเจน ส่วนตัวมองว่า รถที่ใช้ในเมืองอย่างเดียว อาจจะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะช่วงล่างเดิม ๆ ให้ความนุ่มนวล และใช้งานได้ดีในเมืองอยู่แล้ว
  • ที่ความเร็วสูง สัมผัสความนุ่มนวลใกล้เคียงของเดิม หรือแข็งกระด้างขึ้นไม่มากนัก โดยรวมยังให้สัมผัสที่ดีอยู่
  • รถมีอาการโยนลดลงชัดเจน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ covid จึงไม่ได้ออกต่างจังหวัดไปไหน จึงเปรียบเทียบยาก แต่จากการทดสอบวิ่งโดดคอสะพาน ผมว่ารถนิ่งขึ้นเยอะ ประมาณ 40-50% เทียบกับสปริงเดิม
  • จังหวะกดคันเร่งสุด รถหน้าไม่เชิดเหมือนเดิม ทำให้การ control พวงมาลัยดีขึ้นมาหน่อย
  • ระยะเบรค ยังไม่ได้ทดลองจริงจัง แต่คาดว่าน่าจะทำได้ดีกว่าเดิม เนื่องจากพอสปริงแข็งขึ้น จังหวะเบรคหนัก ๆ จะเกิดการกระจายน้ำหนักไปยังล้อหลังได้ดีกว่าเดิม ทำให้ภาระที่เบรคหน้าลดลง เกิดประสิทธิภาพเบรคที่ดีขึ้น
ภาพรวม
  • ค่าตัว 4,900บาท + ค่าแรงเปลี่ยน 600บาท ส่วนตัวมองว่าคุ้มค่ามาก ๆ ขับขี่ดีขึ้นเยอะ
  • คนที่ใช้ในเมืองอย่างเดียว ผมคิดว่าไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ เพราะ setting ช่วงล่างเดิม ๆ ทำมาดีแล้ว สำหรับใช้งานในเมือง
  • สำหรับคนที่ออกต่างจังหวัดบ่อย ๆ ขับเร็ว น่าหามาทดลองใช้ครับ มันไม่ได้ดีขึ้นแบบเป็นเท่าตัวหรอก เพราะการเปลี่ยนสปริงก็ทำได้แค่ปรับค่า K ของสปริง แต่ด้วยค่าตัวที่ถูกมาก ๆ ได้เท่านี้ ก็ถือว่าคุ้มค่าไปไกลเลยครับ

หมายเหตุ รีวิวนี้เป็นรีวิวในรูปแบบ Customer Review หรือผู้เขียนจ่ายเงินซื้อสินค้ารีวิวด้วยตัวเอง มิได้รับการสนันสนุนจากบุคคลภายนอกทั้งสิ้น

Posted in รถยนต์ มอไซค์ By Hammer.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *