CR : รีวิวสุดยอดประสบการณ์เรียนขับขี่ปลอดภัย Skill Driving Experience กับสื่อสากล

ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศติดอันดับโลก ในด้านอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน โดยผมเองก็มองไม่เห็นอนาคตเหมือนกัน ว่าใครจะสามารถเข้ามาทำให้สถิติเหล่านี้มันหายไป แต่ในฐานะที่เราใช้ท้องถนนทุกวัน เราสามารถไปเรียนขับขี่ปลอดภัย เพื่อเสริมทักษะ และนำมาสู่ความปลอดภัยในระดับหนึ่งของชีวิตเรา

ในประเทศไทยมีศูนย์อบรมขับขี่ปลอดภัยอยู่หลายเจ้า ถ้าในส่วนของมอเตอร์ไซค์ มีอบรมเกือบทุกแบรนด์ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ เช่น Yamaha Honda Suzuki และ Ducati

แต่ในฝั่งรถยนต์ ผมนึกออกเพียงแค่เจ้าเดียว คือ Toyota Racing School ที่แบ่งหลักสูตรออกเป็น 3 คอร์ส

  1. Basic 3,000 บาท ความรู้พื้นฐานของการขับขี่รถยนต์
  2. Advance 5,000 บาท ความรู้ขั้นสูงสุดของการขับขี่รถยนต์ (เทียบเท่ากับคอร์สที่ผมกำลังจะรีวิว)
  3. Racing 8,000 บาท ความรู้การขับขี่ในสนามแข่ง

ซึ่งข้อเสียของ Toyota ที่ผมไม่ได้เลือกที่จะเรียนด้วย ก็คือจะข้ามไปเรียนในคอร์ส Advance หรือ Racing จะต้องผ่านคอร์สก่อนหน้ามาแล้วเท่านั้น ซึ่งหากว่ากันจริง ๆ แล้ว ผมว่าคอร์ส Basic นั้นธรรมดาเกินไปสำหรับคนที่หาความรู้ในการขับรถเพิ่มเติมอยู่เสมอ

http://www.toyotaracingschool.com/2018/JoinUs.html

ในส่วนของสื่อสากล มีคอร์สอบรม On-Road เพียงคอร์สเดียว คือ การขับขี่ขั้นสูง

รายละเอียดคอร์สเรียน

  • ราคา 3,900 บาท
  • อบรม 1 วัน
  • จำนวนผู้เรียน 27 คน
  • รถ 9 คัน จาก 3 ค่ายรถยนต์ Benz BMW และ Subaru ผลัดกันขับขี่
  • เรียนรู้เกี่ยวกับ ท่านั่ง การเบรคฉุกเฉิน การหักหลบต่าง ๆ การแก้อาการ Oversteering และ Understeering
  • เรียนที่สนามปทุมธานี สปีดเวย์

 

เกริ่นนำมานาน เรามาเริ่มดูกันเลยดีกว่าครับ ว่าคอร์สนี้ให้อะไรกับผู้เรียนบ้าง

 

Part 1 ทฤษฎี ที่ไม่น่าเบื่อ

เนื้อหาในส่วนนี้ ได้กล่าวถึงการจัดท่านั่ง การปรับเบาะต่าง ๆ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ครับ

  1. ปรับความสูงของเบาะ  โดยให้หัวอยู่ห่างจากเพดานประมาณ 1 กำมือ หรือสูงเท่าที่เบาะจะทำได้
  2. ระยะห่างระหว่างเบาะ และพวงมาลัย โดยให้เท้าซ้ายวางที่พักเท้า โดยขายังงอได้อยู่เล็กน้อย ในขณะเดียวกัน เท้าขวาเหยียบแป้นเบรคจนจม แต่ยังคงงอขาได้อยู่เล็กน้อย
  3. ปรับพนักพิง ให้สูงชันขึ้นมา ไม่ควรนอนขับรถ
  4. ปรับพวงมาลัยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยพวงมาลัยจะต้องไม่บังหน้าปัด และผู้ขับขี่ต้องหมุนพวงมาลัยได้โดยง่าย วิธีตรวจสอบว่าปรับถูกต้องหรือไม่ คือ ใช้มือขวาจับที่ตำแหน่ง 11 นาฬิกาของพวงมาลัย แต่ยังสามารถงอแขนได้เล็กน้อย
  5. ปรับความสูงของหมอน ให้อยู่กึ่งกลางพอดีกับศรีษะพอดี

ทุกอย่างมีที่มาที่ไป สาเหตุที่ต้องทำตามนี้ ก็เพราะว่า

  1. เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถมองได้ไกลขึ้น
  2. หากเท้าซ้ายยืดตรง แล้วเกิดอุบัติเหตุ แรงที่เข้ามาในตัวรถ อาจทำให้ผู้ขับขี่ขาหักได้ ในขณะเดียวกัน เท้าขวาต้องงอได้ เพื่อสามารถเหยียบแป้นเบรคได้อย่างเต็มกำลัง
  3. เมื่อรถเกิดอาการใด ๆ การที่เรานั่งในตำแหน่งที่ถูกต้อง จะทำให้ผู้ขับขี่รู้อาการของรถ และแก้ไขได้เร็วขึ้น
  4. เพื่อให้หมุนพวงมาลัยได้เร็ว เวลาต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
  5. เมื่อโดนชนจากท้าย ผู้ขับขี่คอจะไม่หัก

 

นอกจากการปรับเบาะ ท่านั่ง วิทยากรได้พูดถึงการจับพวงมาลัย ให้อยู่ในตำแหน่ง 9 และ 15 นาฬิกา รวมถึงการหมุนพวงมาลัยเทคนิคแบบ Put and Pull

 

Reaction time หรือระยะเวลาที่ผู้ขับขี่ จะเหยียบเบรค เมื่อรู้ตัวว่าสมควรเบรค โดยเฉลี่ยแล้ว กว่าจะเบรค ผู้ขับขี่ใช้เวลาในการตอบสนองถึง 1 นาที มีสูตรในการคิดตามนี้เลยครับ

 

Reaction time = (ความเร็ว / 10) x 3

หรือ หากขับขี่มาด้วยความเร็ว 30 km/hr ระยะทางไหลก่อนเหยียบเบรค จะมีค่าเท่ากับ 9 เมตรนั่นเองครับ

และนี่ยังไม่นับระยะเบรคที่รถทำได้จริงๆ โดยยิ่งขับขี่เร็ว ระยะเบรคก็จะยิ่งไหล เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาจำกัดความเร็วในสถานที่ต่าง ๆ ไม่เท่ากัน

 

ทั้งนี้เนื้อหาที่ผมนำมาลง เป็นเนื้อหาคร่าว ๆ เท่านั้นครับ ไม่สามารถหยิบยกมาได้หมด เนื่องจากผมเองจำไม่ค่อยได้แล้วครับ  และรูปถ่ายที่ผมถ่ายมา ดันเผลอทำหายไปหมดแล้วครับ รวมถึงผมว่าการไปนั่งฟังสาธิต น่าจะได้ประโยชน์กว่าการอ่าน ที่จะทำให้เราเห็นภาพชัดเจน (ขายของให้เขาหน่อยครับ การันตีว่าดีจริง)

 

ในส่วนของรีวิว Part ทฤษฎี

ผมมองว่าวิทยากรเล่าเรื่องได้รวบรัดดี และมีทักษะการถ่ายทอด ที่ทำให้ผู้ฟังไม่น่าเบื่อครับ ผมเองเคยไปอบรมขับขี่ปลอดภัยของ APhonda หรือ Suzuki ต้องบอกว่า ศูนย์ฝึกเหล่านี้เขาต้องทำตามหลักสูตรที่ญี่ปุ่นวางไว้ จึงต้องมีส่วนของทฤษฎีทุกครั้ง และมักยืดยาวจนน่าเบื่อครับ

สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ ที่ไม่เคยเรียนที่ไหนเลย ผมเชื่อว่ามีไม่มากก็น้อย ที่เรายังปฎิบัติตัวไม่ถูกต้องอยู่ และนั่นเป็นสิ่งที่เสริมให้ทฤษฎีของคอร์สนี้ ไม่น่าเบื่อครับ และหากเราอยากทราบอะไรเพิ่มเติม ก็สามารถถามได้ตลอดเวลา

 

Part 2 Understeering and Emergency break

 

ในส่วนของสถานีนี้ จะให้ผู้เรียนทดลองเบรคฉุกเฉิน (ขับรถมาตรง ๆ แล้วเบรคตรง ๆ นั่นแหละครับ) และเข้าโค้งที่ความเร็วต่าง ๆ 40 50 และ 60km/hr เพื่อให้รู้อาการรถ

40 km/hr ยังไปสบายๆ

50 km/hr รถเริ่มออกอาการ และมีเสียงร้องคำรามของยาง

60 km/hr รถมีอาการ understeering หากผู้ขับขี่ยิ่งหักพวงมาลัย รถก็จะไม่เชื่อฟังเราครับ ยังคงไถลออกไป สำหรับรถที่มี ABS การใช้ชีวิตในประจำวันอาจจะเหยียบเบรคเต็มกำลัง เพื่อให้รถหยุดเลยก็ได้ครับ

 

โดยสิ่งสำคัญในสถานีนี้ คือ

  • เมื่อรู้ว่ารถออกอาการ มีเสียงร้องของยาง อย่าใส่ความเร็วต่อ ให้ชลอรถได้แล้ว อย่าให้เกิดอาการ Understeering แล้วค่อยแก้ เราไม่ใช่นักแข่ง
  • รถที่มี ABS ไม่ใช่ว่าระยะเบรคจะยาวกว่ารถไม่มี ABS เสมอไป โดยทั่วไป รถที่มี ABS เมื่อเบรคที่ความเร็วมากกว่า 60km/hr จะเบรคได้สั้นกว่าเสมอ เนื่องมาจากแรงเฉี่อยที่รถมีอยู่
  • ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน กระทืบเบรคเต็มแรงได้เลย ไม่ต้องคิดว่า ABS จะทำงานหรือไม่

รีวิว Part 2 Understeering and Emergency break

เป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญ เนื่องมาจากปัจจุบันรถยนต์ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งสามารถเกิด Understeering ได้โดยง่าย และปกติผู้ใช้งานทั่วไป ก็มักจะไม่ได้ลองทดสอบรถตัวเองอย่างจริง ๆ จัง ๆ ว่า รถเราเบรคจน ABS ทำงาน ได้ระยะเบรคสั้นขนาดไหน นับได้ว่าสถานีนี้ ก็เป็นอีกสถานีที่มีความสนุก รวมถึงไม่ต้องกลัวรถตัวเองช้ำเลย เพราะเป็นรถบริษัทผู้จัดการฝึกอบรม

จุดที่น่าสนใจของส่วนนี้ วิทยากรไม่ได้ให้แก้อาการ Understeering แบบนักแข่ง แต่เมื่อเกิดอาการจะให้ทำการเบรคเต็มแรงมากกว่า หากมีสอนวิธีการแก้อาการ Understeering โดยรถยังเคลื่อนที่ต่อ น่าจะสนุกกว่านี้ครับ

 

Part 3 Emergency Handling

ถ้าเป็นที่เมืองนอก ก็จะมีการทดสอบที่ชื่อว่า Moose Test หรือว่าวิ่งหลบกวาง แต่ถ้าเป็นเมืองไทย ผมว่าเราสามารถตั้งได้หลายชื่อกันเลยทีเดียว ทั้งการวิ่งหลบหลุม หลบคนข้ามถนน หลบวัว หลบแมว หลบไก่ หลบหมา #พออออ

ในสถานีนี้จะให้ทดสอบหักหลบอยู่ 2 รูปแบบ คือ

  1. หักหลบซ้าย หรือขวา โดยไม่กลับเข้าเลนเดิม
  2. หลักหลบซ้าย หรือขวา โดยต้องเบี่ยงกลับเลนเดิม (Moose Test)

เช่นเคยครับ การทดสอบยังคงมาที่ความเร็วต่างๆ 40 50 และ 60km/hr

 

สำหรับเทคนิคของสถานีนี้คือ ท่าทางการนั่ง การจับพวงมาลัยของเราจะต้องถูกต้อง เพื่อให้การหมุนพวงมาลัยทำได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดเหตุ จะต้องมีการหมุนพวงมาลัยซ้ายขวาอย่างรวดเร็ว

 

รีวิว Part 3 Emergency Handling

  • ทางวิทยากรไม่ได้ให้ทดลองปิด ESP หรือระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว จึงไม่รู้ว่าสำหรับรถที่ไม่มีระบบช่วยการขับขี่ จะสามารถควบคุมรถได้อย่างสวยงาม แบบตอนขับ Benz หรือไม่
  • วิทยากรอธิบายการหมุนพวงมาลัยมากเกินไป จนผู้เรียนหลายคนเกิดอาการเกร็งว่า ตัวเองทำถูกหรือไม่
  • จริง ๆ แล้ว สถานีนี้ถ้าผู้ขับขี่เคยทดลองการหักหลบมาก่อน จะสามารถทำได้เลย โดยที่ไม่ต้องฟังหลักการต่าง ๆ ที่วิทยากรสอน มันเหมือนเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ว่าควรจะทำอย่างไร มันจะทำเป็นอย่างอย่างสมูธ

 

Part 4 Oversteering

ไฮไลท์ของงานนี้เลยทีเดียว ทุกคนเฝ้ารอคอยการดริฟต์ โดยการทดลองก็ไม่ยากครับ เริ่มต้นที่

  1. คุณต้องมีรถยนต์ขับหลังก่อน (รถขับหลัง จะมีโอกาสเกิด Oversteering ได้มากที่สุด)
  2. ทำถนนให้ลื่น ๆ นิดหน่อย โดยการราดน้ำผสมผงซักฟอก
  3. ขับรถวนเป็นวงกลมที่ความเร็ว 20km/hr
  4. เหยียบคันเร่งมิด

เพียงเท่านี้รถของท่านก็จะหมุนสมใจอยาก

 

ในส่วนของวิธีการแก้ เพียงแค่ยกคันเร่ง และหมุนพวงมาลัยไปในทิศทางที่ท้ายออก โดยทั้งหมดนี้จะต้องกระทำอย่างรวดเร็ว

 

จุดสังเกตคือ หากผู้ขับขี่ปรับเบาะถูกต้อง จะทำให้ผู้ขับขี่รับรู้ถึงอาการ Oversteering อย่างรวดเร็ว คือมีอาการหลังหวิว ๆ และหากจับพวงมาลัยถูกวิธี ก็ทำให้แก้อาการได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกัน

และก่อนจบสถานีนี้ วิทยากรให้ผู้เรียนได้เปิดระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว แล้วกดคันเร่งมิดขับวนเป็นวงกลม พบว่าที่ความเร็วต่ำ ๆ รถยังมีอาการเสียหลักให้เห็นอยู่ แต่ระบบ ESP จะช่วยตัดกำลังเครื่องยนต์ เบรคในบางล้อ เพื่อให้รถยังสามารถควบคุมอยู่ได้ ดังนั้นหากท่านจะซื้อรถ อยากให้ดูถึง option ความปลอดภัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นต้องมี

แต่ทั้งนี้ เมื่อมีแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะขับได้เต็มที่ เพราะเป็นเพียงระบบช่วยเหลือ หากท่านจัดความเร็วมาเต็ม ๆ คาดว่าคงได้ไปพบกับต้นไม้

 

รีวิว Part 4 Oversteering

เป็นส่วนที่สนุกที่สุด ได้ลองทำให้รถหมุนจนรู้ว่า อ่อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง ได้ลองฝึกแก้อาการ ซึ่งในชีวิตจริงถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราอาจจะแก้มันไม่ได้

ผู้จัดงานถือว่าบริการเวลาได้ดีพอสมควร แม้ว่าจะต้องผลัดกันขับขี่ แต่ก็ไม่ทำให้รู้สึกว่าได้ขับน้อยเกินไป (แต่ถ้าได้ขับขี่มากกว่านี้ก็ดี)

 

โดยรวม ผมว่าทางผู้จัด (สื่อสากล) เขาเต็มที่มาก ๆ เขาให้ลองรถได้เต็มที่ (รถ Sponsor อีกที 55555) เป็นจุดเด่นของคอร์สนี้เลยครับ อะไรที่เราไม่เคยลองทำบนท้องถนน เราได้มาลองที่นี้หมด หลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดที่นี่ เช่น Oversteering ผมยังแก้อาการได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้บนท้องถนนจริง ๆ ที่ความเร็ว 100km/hr เราจะรอดตายหรือไม่

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนไปลงเรียนกันครับ อย่าคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ไม่ต้องเรียนก็ได้ ผมเชื่อว่ายังมีสิ่งที่คุณไม่รู้อีกเยอะครับ ผมก็คิดว่าตัวเองเก่ง แต่ก็ยังหาโอกาสไปฝึกอยู่เสมอ ทั้งคอร์สมอไซค์ของ Honda หรืออนาคตถ้ามีโอกาสก็ลงกับทางสื่อสากลอีกแน่นอน ทักษะก็เป็นสิ่งที่หายไปตามกาลเวลา การหาโอกาสฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ดี

 

ขออนุญาตตัดจบเพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามารับชมครับ

 

Posted in รถยนต์ มอไซค์ By Hammer.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *